ปกเว็บไซต์ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6

สพข.6 ร่วมงานรณรงค์เปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษพืซ เป็นปุ๋ยหมักบำรุงดิน ลดปัญหาหมอกควันและ PM 2.5


date 14 มี.ค. 2567    9   

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน “โครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และลดปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ บ้านต่อเรือ หมู่ที่ 2 ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงาน นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ท่ามกลางผู้ร่วมงานประกอบด้วย นายสมบูรณ์  ธิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่เขต 6  คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน หมอดินอาสา เกษตรกร และประชาชน 

           ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2.98 ล้านไร่ มีเศษเหลือของวัสดุจากการเกษตร เช่น เศษซังข้าวโพด ตอซังข้าว และอื่นๆ กว่า 1.16 ล้านตันต่อปี แต่เกษตรกรยังขาดการจัดการที่เหมาะสม มีการเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และทำให้เกิดปัญหาหมอกควันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาไปสู่สภาวะโลกร้อน ดังนั้น การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้เกษตรกรงดเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกร หันมาทำปุ๋ยหมักจากเศษซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสภาวะมลพิษทางอากาศ ได้อีกแนวทางหนึ่ง การนำวัสดุเหลือใช้จากไร่นามาทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน และนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรตนเองได้ต่อไป 

           ด้าน นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยการนำเศษพืชเศษวัสดุจากไร่นามาผลิตเป็นปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาหาการเผา ลดมลภาวะต่างๆ ได้ ซึ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจะส่งผลกระทบต่อดิน การเผาเศษพืช 1 ตัน ทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจนประมาณ 2.3 กิโลกรัม ฟอสฟอรัสประมาณ 0.3 กิโลกรัม และโพแทสเซียมประมาณ 5.7 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอกควัน และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 6.05 ตัน ต่อการเผาเศษพืช 1 ตัน ทำให้การเจริญเติบโตของพืชไม่เต็มที่ ให้ผลผลิตลดต่ำลง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้นำองค์ความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพ นำไปเผยแพร่สู่เกษตรกร การจัดงานในวันนี้เพื่อปลุกจิตสำนึก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการทำปุ๋ยหมักที่ถูกต้องและเหมาะสม นำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากการเผาตอซังพืช ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการพัฒนาที่ดิน การทำปุ๋ยหมักและการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติร่วมสาธิตการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืชอีกด้วย