ปกเว็บไซต์ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร

ผอ.สพข.10 ร่วมประชุมหารือแก้ปัญหาการแพร่ระบาด'ปลาหมอคางดำ


date 24 ก.ค. 2567    10   

ผอ.สพข.10 ร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมี รมต.กระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ณ จังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมี นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายอาทิตย์ สุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน นายคำนึง แสงขำ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนสมาคมการประมงจาก 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เข้าร่วมประชุม ณ สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ซึ่งสมาคมการประมง ได้ให้ข้อเสนอ 9 มาตรการ อาทิ การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ การจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชาวประมง และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบทั้ง 9 มาตรการ โดยได้มอบหมาย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆนอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง และการยางแห่งประเทศไทย โดยกรมประมงพิจารณาจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด 49 จุดรับซื้อ ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำที่รับซื้อไว้ไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้การยางแห่งประเทศไทยนำไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรชาวสวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยจะเริ่มดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ณ สมาคมการประมงสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พร้อมทั้งลงพื้นที่จุดรับซื้อปลาหมอคางดำ เยี่ยมชมกระบวนการรับซื้อปลาหมอคางดำ และชมสาธิตวิธีการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำโดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ณ แพปลานายวิชาญ เหล็กดี ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ซึ่งก่อนหน้านี้ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 ได้ร่วมแก้ไขปัญหานำปลาหมอคางดำที่กำจัดจากแหล่งน้ำและแหล่งเพาะเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ โดยการทำน้ำหมักชีวภาพคุณภาพสูง (สูตรไนโตรเจนสูง) จากปลาหมอคางดำ จำนวน 6 ตัน สามารถผลิตน้ำหมักชีวภาพได้จำนวน 10,000 ลิตร ได้ดำเนินการโดยสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงคราม และสถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี โดยได้แจกจ่ายให้กับกลุ่มหมอดินอาสา และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่

แหล่งที่มา : https://www.naewna.com/local/818213